พระราชบัญญัติสหกรณ์(ใหม่) - หมวด 5

สารบัญ

 
หมวด ๕
การควบสหกรณ์เข้ากัน
มาตรา ๙๐ สหกรณ์ตั้งแต่สองสหกรณ์อาจควบเข้ากันเป็นสหกรณ์เดียวได้ โดยมติแห่งที่ประชุมใหญ่ของแต่ละสหกรณ์ และต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์
ในการขอความเห็นชอบของนายทะเบียนสหกรณ์ให้ส่งสำเนารายงานการประชุมใหญ่ของสหกรณ์ที่ลงมติให้ควบเข้ากันไปด้วย
 
มาตรา ๙๑ เมื่อนายทะเบียนสหกรณ์ให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๙๐ แล้ว ให้สหกรณ์แจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าหนี้ทั้งปวงของสหกรณ์เพื่อให้ทราบรายการ ที่ประสงค์จะควบสหกรณ์เข้ากัน และขอให้เจ้าหนี้ผู้มีข้อคัดค้านในการควบสหกรณ์เข้ากันนั้นส่งคำคัดค้านไป ยังสหกรณ์ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
ถ้าไม่มีเจ้าหนี้คัดค้านภายในกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น ให้ถือว่าไม่มีคำคัดค้าน
ถ้ามีเจ้าหนี้คัดค้าน สหกรณ์จะควบเข้ากันมิได้ จนกว่าจะได้ชำระหนี้แล้วได้ให้ประกันเพื่อหนี้รายนั้น
 
มาตรา ๙๒ ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ของแต่ละสหกรณ์ที่ควบเข้ากันตั้งผู้แทนขึ้น สหกรณ์ละไม่เกินสามคนเพื่อดำเนินการจดทะเบียนตามมาตรา ๙๓
 
มาตรา ๙๓ สหกรณ์ที่ตั้งขึ้นใหม่โดยควบเข้ากันนั้น ต้องจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ใหม่ โดยยื่นคำขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนสหกรณ์ตามแบบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
ในคำขอจดทะเบียนสหกรณ์ใหม่ ต้องมีผู้แทนของสหกรณ์ที่ควบเข้ากันลงลายมือชื่ออย่างน้อยสหกรณ์ละสองคนทุกสหกรณ์
คำขอจดทะเบียนสหกรณ์ใหม่ ต้องมีเอกสารดังต่อไปนี้ยื่นพร้อมกับคำขอด้วย
(๑) หนังสือของทุกสหกรณ์ที่ควบเข้ากันนั้นรับรองว่าได้แจ้งไปยังเจ้าหนี้ทั้งปวง ตามมาตรา ๙๑ วรรคหนึ่ง และไม่มีเจ้าหนี้คัดค้านภายในกำหนด หรือในกรณีที่มีเจ้าหนี้คัดค้านสหกรณ์ได้ชำระหนี้ หรือได้ให้ประกันเพื่อหนี้รายนั้นแล้ว
(๒) ข้อบังคับของสหกรณ์ใหม่ที่ขอจดทะเบียนสี่ฉบับ
(๓) สำเนารายงานการประชุมผู้แทนของสหกรณ์ที่ควบเข้ากันหนึ่งฉบับ
เอกสารตาม (๒) และ (๓) นั้น ผู้แทนของสหกรณ์ต้องลงลายมือชื่อรับรองสองคน
 
มาตรา ๙๔ เมื่อนายทะเบียนสหกรณ์รับจดทะเบียนสหกรณ์ที่ควบเข้ากันเป็นสหกรณ์ใหม่แล้ว ให้นายทะเบียนสหกรณ์ถอนชื่อสหกรณ์เดิมที่ได้ควบเข้ากันนั้นออกจากทะเบียน
ให้ผู้แทนของสหกรณ์ที่ควบเข้ากันมีอำนาจหน้าที่และสิทธิเช่นเดียวกับคณะ กรรมการดำเนินการสหกรณ์จนกว่าจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ตาม มาตรา ๔๐
 
มาตรา ๙๕ สหกรณ์ใหม่นี้ย่อมได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้สิน สิทธิ และความรับผิดของสหกรณ์เดิมที่ได้ควบเข้ากันนั้นทั้งสิ้น