พระราชบัญญัติสหกรณ์(ใหม่) - หมวด 4
หมวด ๔
การชำระบัญชี
มาตรา ๗๔ การชำระบัญชีสหกรณ์ที่ล้มละลายนั้น ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย
มาตรา ๗๕ การชำระบัญชีสหกรณ์ที่เลิกเพราะเหตุอื่นนอกจากล้มละลาย ให้ที่ประชุมใหญ่ตั้งผู้ชำระบัญชีโดยได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ขึ้นทำการชำระบัญชีสหกรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เลิกสหกรณ์ หรือนับแต่วันที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ มีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่ที่ประชุมใหญ่ไม่เลือกตั้งผู้ชำระบัญชีภายในกำหนดเวลาดังกล่าว หรือนายทะเบียนสหกรณ์ ไม่ให้ความเห็นชอบในการเลือกตั้งผู้ชำระบัญชี ให้นายทะเบียนสหกรณ์ตั้งผู้ชำระบัญชีขึ้นทำการชำระบัญชีสหกรณ์ได้
เมื่อนายทะเบียนสหกรณ์เห็นสมควรหรือเมื่อสมาชิกมีจำนวนไม่น้อยกว่าสองในสาม ของสมาชิกทั้งหมดร้องขอต่อนายทะเบียนสหกรณ์ นายทะเบียนสหกรณ์จะแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีคนใหม่แทนผู้ชำระบัญชีซึ่งได้รับ เลือกตั้งหรือซึ่งได้ตั้งไว้ก็ได้
ให้นายทะเบียนสหกรณ์จดทะเบียนผู้ชำระบัญชีซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์ให้ความเห็น ชอบตามวรรคหนึ่ง หรือผู้ชำระบัญชีซึ่งได้รับแต่งตั้งตามวรรคสองหรือวรรคสาม และให้ปิดประกาศชื่อผู้ชำระบัญชีไว้ที่สำนักงานของสหกรณ์นั้น สำนักงานสหกรณ์อำเภอหรือหน่วยส่งเสริมสหกรณ์ และที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตแห่งท้องที่ที่สหกรณ์นั้นตั้งอยู่ภายในสิบ สี่วันนับแต่วันที่จดทะเบียนผู้ชำระบัญชี
ผู้ชำระบัญชีอาจได้รับค่าตอบแทนตามที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
มาตรา ๗๖ สหกรณ์นั้นแม้จะได้เลิกไปแล้วก็ให้พึงถือว่ายังคงดำรงอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี
มาตรา ๗๗ ให้ผู้ชำระบัญชีมีหน้าที่ชำระสะสางกิจการของสหกรณ์ จัดการชำระหนี้และจำหน่ายทรัพย์สินของสหกรณ์นั้นให้เสร็จไป
มาตรา ๗๘ เมื่อสหกรณ์เลิก ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์และเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์มีหน้าที่จัดการรักษา ทรัพย์สินทั้งหมดของสหกรณ์ไว้จนกว่าผู้ชำระบัญชีจะเรียกให้ส่งมอบ
ผู้ชำระบัญชีจะเรียกให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์หรือเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ ส่งมอบทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งพร้อมด้วยสมุดบัญชี เอกสาร และสิ่งอื่นเมื่อใดก็ได้
มาตรา ๗๙ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนสหกรณ์จดทะเบียนผู้ชำระบัญชีให้ผู้ ชำระบัญชีประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อยสองวันติดต่อกัน หรือประกาศโฆษณาทางอื่นว่าสหกรณ์ได้เลิก และแจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าหนี้ทุกคน ซึ่งมีชื่อปรากฏในสมุดบัญชี เอกสารของสหกรณ์หรือปรากฏจากทางอื่น เพื่อให้ทราบว่าสหกรณ์นั้นเลิก และให้เจ้าหนี้ยื่นคำทวงหนี้แก่ผู้ชำระบัญชี
มาตรา ๘๐ ผู้ชำระบัญชีต้องทำงบการเงินของสหกรณ์ ณ วันที่เลิกสหกรณ์ โดยไม่ชักช้า และให้นายทะเบียนสหกรณ์ตั้งผู้สอบบัญชีเพื่อตรวจสอบงบการเงินนั้น
เมื่อผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นต่องบการเงินแล้ว ให้ผู้ชำระบัญชีเสนองบการเงิน ต่อที่ประชุมใหญ่เพื่ออนุมัติ แล้วเสนองบการเงินนั้นต่อนายทะเบียนสหกรณ์
ในกรณีที่การประชุมใหญ่ไม่ครบองค์ประชุม ให้ผู้ชำระบัญชีเสนองบการเงิน ต่อนายทะเบียนสหกรณ์เพื่ออนุมัติผู้ชำระบัญชีต้องทำงบดุลของสหกรณ์โดยไม่ชักช้า และให้นายทะเบียนสหกรณ์ตั้งผู้สอบบัญชีเพื่อตรวจสอบงบดุลนั้น
มาตรา ๘๑ ผู้ชำระบัญชีมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ดำเนินกิจการของสหกรณ์เท่าที่จำเป็นเพื่อระวังรักษาผลประโยชน์ของสหกรณ์ในระหว่างที่ยังชำระบัญชีไม่เสร็จ
(๒) ดำเนินกิจการของสหกรณ์เท่าที่จำเป็นเพื่อชำระสะสางกิจการให้เสร็จไปด้วยดี
(๓) เรียกประชุมใหญ่
(๔) ดำเนินการทั้งปวงเกี่ยวกับคดีแพ่งหรือคดีอาญา และประนีประนอมยอมความในเรื่องใด ๆในนามของสหกรณ์
(๕) จำหน่ายทรัพย์สินของสหกรณ์
(๖) เรียกให้สมาชิกหรือทายาทของสมาชิกผู้ตายชำระค่าหุ้นที่ยังชำระไม่ครบมูลค่าของหุ้นทั้งหมด
(๗) ร้องขอต่อศาลเพื่อสั่งให้สหกรณ์ล้มละลายในกรณีที่เงินค่าหุ้นหรือเงินลงทุน ได้ใช้เสร็จแล้วแต่ทรัพย์สินก็ยังไม่เพียงพอแก่การชำระหนี้สิน
(๘) ดำเนินการอย่างอื่นเท่าที่จำเป็นเพื่อให้การชำระบัญชีเสร็จสิ้น
มาตรา ๘๒ ข้อจำกัดอำนาจของผู้ชำระบัญชีอย่างใด ๆ ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก ผู้กระทำการโดยสุจริต
มาตรา ๘๓ ค่าธรรมเนียม ค่าภาระติดพัน และค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียตามสมควรในการชำระบัญชีนั้น ผู้ชำระบัญชีต้องจัดการชำระก่อนหนี้รายอื่น
มาตรา ๘๔ ถ้าเจ้าหนี้คนใดมิได้ทวงถามให้ชำระหนี้ ผู้ชำระบัญชีต้องวางเงินสำหรับจำนวนหนี้นั้นไว้ต่อนายทะเบียนสหกรณ์เพื่อ ประโยชน์แก่เจ้าหนี้ และให้ผู้ชำระบัญชีมีหนังสือแจ้งการที่ได้วางเงินไปยังเจ้าหนี้โดยไม่ชักช้า
ถ้าเจ้าหนี้ไม่รับเงินไปจนพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่ผู้ชำระบัญชีวางเงินไว้ ต่อนายทะเบียนสหกรณ์ เจ้าหนี้ย่อมหมดสิทธิในเงินจำนวนนั้น และให้นายทะเบียนสหกรณ์จัดส่งเป็นรายได้ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยให้ เสร็จภายในเวลาอันสมควร
มาตรา ๘๕ ให้ผู้ชำระบัญชีเสนอรายงานต่อนายทะเบียนสหกรณ์ทุกระยะหกเดือนว่าได้จัดการไป อย่างใดบ้างและแสดงให้เห็นความเป็นไปของบัญชีที่ชำระอยู่นั้นรายงานดังกล่าว นี้ให้ทำตามแบบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด
รายงานตามวรรคหนึ่งให้สมาชิก ทายาทของสมาชิกผู้ตาย และเจ้าหนี้ทั้งหลายของสหกรณ์ตรวจดูได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
ถ้าปรากฏข้อบกพร่องในการชำระบัญชี นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจสั่งให้ผู้ชำระบัญชีแก้ไขข้อบกพร่อง และรายงานต่อนายทะเบียนสหกรณ์ภายในเวลาที่กำหนด
มาตรา ๘๖ เมื่อได้ชำระหนี้ของสหกรณ์แล้ว ถ้ามีทรัพย์สินเหลืออยู่เท่าใดให้ผู้ชำระบัญชีจ่ายตามลำดับ ดังต่อไปนี้
(๑) จ่ายคืนเงินค่าหุ้นให้แก่สมาชิกไม่เกินมูลค่าหุ้นที่ชำระแล้ว
(๒) จ่ายเป็นเงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้วแต่ต้องไม่เกินอัตราที่นายทะเบียน สหกรณ์กำหนดตามความเห็นชอบของคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติสำหรับสหกรณ์ แต่ละประเภท
(๓) จ่ายเป็นเงินเฉลี่ยคืนให้แก่สมาชิกตามส่วนธุรกิจที่สมาชิกได้ทำไว้กับสหกรณ์ในระหว่างปีตามที่กำหนดในข้อบังคับ
ถ้ายังมีทรัพย์สินเหลืออยู่อีก ให้ผู้ชำระบัญชีโอนให้แก่สหกรณ์อื่น หรือสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ตามมติของที่ประชุมใหญ่ หรือด้วยความเห็นชอบของนายทะเบียนสหกรณ์ในกรณีที่ไม่อาจเรียกประชุมใหญ่ได้ ภายในสามเดือนนับแต่วันที่ชำระบัญชีเสร็จ
มาตรา ๘๗ เมื่อได้ชำระบัญชีกิจการของสหกรณ์เสร็จแล้ว ให้ผู้ชำระบัญชีทำรายงานการชำระบัญชีพร้อมทั้งรายการย่อของบัญชีที่ชำระนั้น แสดงว่าได้ดำเนินการชำระบัญชีและจัดการทรัพย์สินของสหกรณ์ไปอย่างใด รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการชำระบัญชี และจำนวนทรัพย์สินที่จ่ายตามมาตรา ๘๖ เสนอต่อผู้สอบบัญชี
เมื่อผู้สอบบัญชีตรวจสอบและรับรองบัญชีที่ชำระนั้นแล้ว ให้ผู้ชำระบัญชีเสนอต่อนายทะเบียนสหกรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้สอบ บัญชีรับรองบัญชีที่ชำระนั้น เมื่อนายทะเบียนสหกรณ์เห็นชอบด้วยแล้ว ให้ถือว่าเป็นที่สุดแห่งการชำระบัญชี และให้นายทะเบียนสหกรณ์ถอนชื่อสหกรณ์ออกจากทะเบียน
มาตรา ๘๘ เมื่อนายทะเบียนสหกรณ์ให้ความเห็นชอบในการชำระบัญชีตามมาตรา ๘๗ แล้ว ให้ผู้ชำระบัญชีมอบบรรดาสมุดบัญชีและเอกสารทั้งหลายของสหกรณ์ที่ได้ชำระ บัญชีเสร็จแล้วนั้นแก่นายทะเบียนสหกรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่นาย ทะเบียนสหกรณ์ให้ความเห็นชอบ
ให้นายทะเบียนสหกรณ์รักษาสมุดบัญชีและเอกสารเหล่านี้ไว้อีกสองปี นับแต่วันที่ถอนชื่อสหกรณ์นั้นออกจากทะเบียน
สมุดบัญชีและเอกสารตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีส่วนได้เสียตรวจดูได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
มาตรา ๘๙ ในคดีฟ้องเรียกหนี้สินที่สหกรณ์ สมาชิก หรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้อยู่ในฐานะเช่นนั้น ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันที่นายทะเบียนสหกรณ์ถอนชื่อสหกรณ์ ออกจากทะเบียน
หมวด ๔/๑
การดำเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน
มาตรา๘๙/๑ เว้นแต่จะได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในหมวดนี้ ให้การดำเนินงาน และการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเป็นไปตามบทบัญญัติในหมวดอื่นด้วย
มาตรา ๘๙/๒ การดเนินงานและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนในเรื่องดังต่อไปนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ อาจกำหนดให้แตกต่างกันไปตามขนาดของสหกรณ์ก็ได้
(๑) การกำหนดขนาดของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน
(๒) การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอื่นของกรรมการดำเนินการสหกรณ์ และผู้จัดการ
(๓) การกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์
(๔) การให้กู้และการให้สินเชื่อ
(๕) การรับฝากเงิน การก่อหนี้ และการสร้างภาระผูกพัน ซึ่งรวมถึงการกู้ยืม หรือการค้ำประกัน
(๖) การดำรงเงินกองทุน
(๗) การบริหารสินทรัพย์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง
(๘) การฝากเงินหรือการลงทุน
(๙) การกำกับดูแลด้านธรรมาภิบาล
(๑๐) การจัดชั้นสินทรัพย์และการกันเงินสำรอง
(๑๑) การจัดทำบัญชี การจัดทำและการเปิดเผยงบการเงิน การสอบบัญชี และการแต่งตั้งผู้สอบบัญชี
(๑๒) การจัดเก็บและรายงานข้อมูล
(๑๓) เรื่องอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการกำกับดูแล
ในการออกกฎกระทรวงตามวรรคหนึ่งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หารือร่วมกับกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย
มาตรา ๘๙/๓ ในกรณีที่นายทะเบียนสหกรณ์เห็นว่าคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๘๙/๒ ให้นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่อง หรือระงับการดำเนินการนั้นได้
ในกรณีที่นายทะเบียนสหกรณ์เห็นว่าการกระทำตามวรรคหนึ่งนั้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสหกรณ์หรือสมาชิก ให้นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ หรือผู้จัดการนั้น พ้นจากตำแหน่ง หรือสั่งให้เลิกสหกรณ์ดังกล่าวได้ แล้วแต่กรณี และให้นำมาตรา ๒๔ มาตรา ๒๕ และมาตรา ๗๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๘๙/๔ เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการที่ปรึกษาการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นกรรมการ
ให้อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์แต่งตั้งข้าราชการในสังกัดกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นเลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ
ให้คณะกรรมการที่ปรึกษาการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำ เสนอมาตรการแก้ไขปัญหา และเสนอให้ปรับปรุงระเบียบหรือคำสั่ง เกี่ยวกับการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแก่นายทะเบียนสหกรณ์
ให้นำมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะกรรมการที่ปรึกษาการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนโดยอนุโลม